คำว่า Remarketing หรือ Retargeting อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับนักการตลาดบางคน และหลายๆ แบรนด์อาจจะยังมองข้ามเทคนิคการทำการตลาดแบบนี้อยู่ ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำรีมาร์เก็ตติ้งมีประโยชน์ต่อขั้นตอนการขายมาก เพราะจะเป็นตัวช่วยลดปริมาณการ Drop Off ของลูกค้าไม่ให้หลุดไปจาก Conversion Funnel ของแบรนด์เรา แต่ถ้ายกตัวอย่างสถานการณ์ที่ใช้ Remarketing ให้ฟังแล้วจะต้องนึกออกอย่างแน่นอนครับ
โดย Remarketing หรือ Retargeting คือเทคนิคที่จะสามารถดึงความสนใจของคนที่มีความสนใจในสินค้า หรือบริการอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ เหมือนการตามตื๊อว่าแบรนด์ของเรามีสินค้าอะไรนำเสนอ และมีโปรโมชั่นอะไรบ้าง เพื่อเรียกลูกค้ากลับมาที่หน้าเว็บไซต์ และตัดสินใจซื้อสินค้าของเราในที่สุด เช่น หลายๆ คนน่าจะเคยเจอเหตุการณ์นี้ คือหลังจากที่เราเข้าไปดู หรือคลิกในโพสต์โฆษณา หลังจากเราปิดไปแล้ว เราก็จะเจอโฆษณาของแบรนด์นั้นขึ้นมาทุกๆ ช่องทาง เช่น Facebook, Instagram, YouTube และจะเห็นแบนเนอร์ปรากฏอยู่ในหลายๆ ช่องทาง
การใช้ Audience List กับการทำ Remarketing
Audience List คืออะไร? เป็นรายชื่อคนที่เคยได้เข้ามาชมเว็บไซต์ของเรา โดยการเก็บจากข้อมูลการเข้าชมเว็บไซต์ ซึ่งก่อนที่เราจะทำเทคนิครีมาร์เก็ตติ้งได้ เราก็จำเป็นจะต้องมีลูกค้าที่เข้ามาถึงเว็บไซต์ของเราก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ทำการเก็บข้อมูลผู้ที่เข้ามาชมเว็บไซต์ของเรา โดยการเก็บข้อมูล Audience List ทีนี้ก็สามารถแบ่งประเภทของลูกค้าออกได้หลายแบบ เพื่อสามารถจะยิงโฆษณา และนำลูกค้ามาพบเห็นโฆษณาแต่ละชิ้นของเราให้เจาะจงไปที่ความต้องการของกลุ่มนั้นๆ อีกทั้งยังได้เพิ่มปริมาณลูกค้าที่จะเข้ามาพี่เว็บไซต์ ให้ทำการซื้อสินค้า และบริการของเรา โดยเรามีหลักการในการแบ่งกลุ่มลูกค้า Audience List ได้ 3 รูปแบบดังนี้
1. แบ่งตามความสนใจ (Retarget by Interest)
การแบ่งกลุ่มลูกค้า เพื่อที่จะทำรีมาร์เก็ตติ้ง โดยการนำเสนอโฆษณารูปแบบต่างๆ ไปยังลูกค้าที่สนใจสินค้าในกลุ่มที่ต่างๆ กัน หากเราเป็นเว็บไซต์ขายรองเท้าซึ่งมีรองเท้าหลายประเภททั้งรองเท้าผ้าใบ รองเท้าหนัง และรองเท้าแตะ เราอาจจะแบ่ง Audience List เหล่านี้ออกเป็น 3 กลุ่มตามประเภทของสินค้า และนอกจากนั้นอาจจะสามารถแบ่งลึกไปมากกว่านั้น เช่นสำหรับรองเท้าหนังยังแบ่งเป็นรุ่น X รุ่น Y และรุ่น Z เพื่อที่จะส่งโฆษณา และแบนเนอร์ที่เหมาะสมไปยังลูกค้ากลุ่มนั้นๆ
2. แบ่งกลุ่มลูกค้าตามระยะเวลาการใช้งาน (Retarget by Time Spend)
สำหรับบางแคมเปญที่ไม่ใช่แคมเปญเพื่อขายสินค้า แต่เป็นแคมเปญเพื่อนำเสนอตัวตนของแบรนด์ หรือเล่าถึงที่มาต่างๆ ซึ่งการที่เราจะวัดผลว่าลูกค้าสนใจแบรนด์เรา และรับรู้สิ่งที่เราต้องการสื่อมากแค่ไหน นั่นคือเวลาที่ใช้ในการดูโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่รับชมวีดีโอ เช่น เก็บข้อมูลลูกค้าหากดูวิดีโอเกินกว่า 15 วินาที หรือเวลาที่ใช้บนเว็บไซต์ที่ลูกค้าอาจจะกำลังอ่าน และศึกษาข้อมูลของแบรนด์รวมทั้งสินค้า และบริการ เช่น เข้าชมเนื้อหาบนเว็บไซต์เกินกว่า 10 วินาทีให้เก็บข้อมูลเอาไว้ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการเลือกยิงโฆษณาไปที่กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ต่อไป
3. แบ่งตามสถานะของลูกค้า (Retarget by Customer Status)
การแบ่งตามสเตตัสของลูกค้านั้นส่วนมากเราจะพบเจอกันได้ในเว็บไซต์ E-commerce หรือเว็บไซต์ที่ใช้หลายขั้นตอน เช่น แบ่งออกเป็นขั้นตอนการ กดดูสินค้า -> Add to Cart -> Payment Information -> Complete Payment เราสามารถแยก ลูกค้าที่อยู่ในแต่ละขั้นตอนออกเป็นกลุ่มต่างๆ กัน และยิ่งโฆษณาที่แตกต่างกัน เช่น คนที่กด Add to Cart เอาไว้แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน เราก็สามารถยิงโฆษณาซ้ำไป เพื่อที่พวกเขาจะได้ทำกิจกรรมการซื้อต่อ หรือสำหรับคนที่ยังไม่กดสั่งซื้อในลำดับสุดท้าย ก็สามารถมีโฆษณา เพื่อเตือนความจำให้เขากลับมาซื้อให้เสร็จตามขั้นตอน
ซึ่งจุดประสงค์ของการทำ Remarketing นั้น ก็เพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ และนอกจากนั้นยังกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าลูกค้ากำลังสนใจสินค้า หรือบริการชนิดที่เรานำเสนออยู่ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจ และเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นๆ วิธีนี้จะช่วยให้แบรนด์ของเราโดดเด่นออกมา และมีสิทธิ์ที่ลูกค้าจะเลือกสินค้าของเรามากขึ้น ดังนั้นธุรกิจควรจะศึกษาวิธีการทำ Remarketing เอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ และพัฒนาการตลาดของแบรนด์ต่อไปครับ